เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์]
4.จักกวรรค 7.อปริหานิยสูตร

ภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ1 ย่อม
ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ซึ่ง
เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึง
รักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรู้จักประมาณในการบริโภค เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น
ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้
แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์
พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า “เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และการอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา” ภิกษุรู้จัก
ประมาณในการบริโภค เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นเหตุขัดขวางด้วยการ
จงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นเหตุขัดขวางด้วยการ
จงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี นอนดุจราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา
ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี
ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นเหตุขัดขวางด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอด
ปัจฉิมยามแห่งราตรี ภิกษุประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ เป็นอย่างนี้แล2
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 4 ประการนี้แล ไม่อาจเสื่อม ชื่อว่า
อยู่ใกล้นิพพานแน่แท้